ใครเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้บ้าง?
โรคงูสวัดสามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรงพอ
ทำไมผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคงูสวัด?
ผู้สูงอายุที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายแสดงอาการและก่อให้เกิดโรคงูสวัดออกมา
อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นกระจุกตามแนวเส้นประสาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณชายโครง หลัง ท้อง ลำคอ หรือใบหน้าและดวงตา ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อน คัน รู้สึกเหมือนถูกไฟไหม้หรือไฟลวก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย อาจมีอาการปวดนำมาก่อนที่จะเกิดผื่นผิวหนัง ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ และหลังจากแผลหายอาจเกิดอาการแทรกซ้อน ได้แก่ อาการปวดเรื้องรังตามแนวเส้นประสาท และสูญเสียการมองเห็นหากเกิดที่บริเวณใบหน้าและดวงตา
แล้วจะป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างไร?
ในผู้สูงอายุ โรคจะแพร่กระจายและมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ดังนั้น วิธีป้องกันควรเริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ซึ่งจะสามารถป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัด และป้องกันภาวะปวดเรื้อรัง หรือลดการเจ็บปวดของโรคเมื่อผื่นโรคงูสวัดหายไป