โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง…เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก การเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายใน (intrinsic หรือ non IgE associated)
เป็นความผิดปกติของยีนที่สร้างสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ซึ่งเป็นปัจจัยจากความผิดปกติของผิวหนังเอง - ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (extrinsic หรือ IgE associated)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับ IgE ในเลือดสูง หรือการทดสอบทางผิวหนังชนิด skin prick test ให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด (asthma) โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) เป็นต้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการอย่างไร?
ลักษณะผื่นผิวหนังในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ลักษณะที่พบได้ชัดคือเป็นผื่นตุ่มแดงคัน เป็นแผ่นแดง ลอก และเป็นขุยได้ มีอาการคันมาก และการกระจายตามตัวจะต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- วัยทารก มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่สัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี
- วัยเด็กโต ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา
แพทย์จะวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆ หายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
แต่หากในกรณีที่ให้การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น อาหารและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง หรือละอองเกสร โดยทำการทดสอบเพิ่มเติมได้ดังนี้
- การทดสอบทางผิวหนัง ได้แก่ skin prick test หรือ patch test
- การเจาะเลือด ตรวจ specific IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ
- การทดสอบการแพ้อาหารโดยการรับประทาน (oral challenge)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีวิธีรักษาอย่างไร?
- หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติชัดเจน เช่น อาหาร เหงื่อ สารเคมี ที่อาจระคายเคือง
- ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรืออาบน้ำอุ่นจนเกินไป จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น ทาครีม หรือโลชั่นบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำตอนผิวยังเปียก เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
- ใช้ยาทาลดการอักเสบตามที่แพทย์สั่ง เมื่อมีผื่นเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาผื่นตามลักษณะและระยะของผื่น เป็นต้นว่าหากมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหล จะใช้น้ำเกลือประคบแผล หากระยะของผื่นเกิดมานาน จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทา โดยแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยาให้เหมาะสมกับลักษณะ และตำแหน่งของผื่น ไม่ควรซื้อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ (เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง เกิดแผลแตก และติดเชื้อได้ง่าย เกิดผื่นอีกชนิด และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อให้เกิดการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะของต่อมหมวกไต)
ปัจจุบันมียากลุ่มต้านการอักเสบ calcineurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆ ไป และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
- เฝ้าระวังและมองหาภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง หากตรวจพบต้องให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
- รับประทานยาลดอาการคัน เพื่อบรรเทาอาการคันที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- การรักษาอื่นๆ เช่น
- การฉายแสง UV หรือการทานยากดภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่ผื่นเป็นมากและอาการไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับการรักษาพื้นฐานแล้ว แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเด็กต่อไป
- การรักษาโดยวิธี allergen specific immunotherapy หรือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาการแพ้อย่างชัดเจนจากการตรวจเลือด specific IgE หรือการทดสอบทางผิวหนัง (skin prick test) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการแพ้ไรฝุ่น โดยมีการศึกษาทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าการรักษาโดย allergen immunotherapy จะลดความรุนแรงของโรคทั้งบริเวณและความรุนแรง รวมถึงลดการใช้ยาทาสเตียรอยด์ลง ทั้งนี้ควรได้รับการประเมินและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง…รักษาหายไหม?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ มีช่วงที่โรคสงบ/ผื่นยุบ และมีช่วงที่ผื่นกำเริบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลผิวหนัง และการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละราย ด้วยธรรมชาติของโรคแล้วมักมีอาการมากตอนเด็ก ประมาณ 60% ของผู้ป่วยจะมีอาการตอนอายุน้อยกว่า 1 ปี จากนั้นเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่ผื่นผิวหนังจะดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นนั้นเนื่องจากผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการดูแลผิวหนังตนเองได้ดีขึ้นนั่นเอง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง..ป้องกันได้ไหม?
เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งส่วนของพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกา และความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้ ในปัจจุบันมีผลการศึกษาที่สนับสนุนว่าการใช้ครีมบำรุงผิวสูตรที่เหมาะสมสำหรับผิวทารกและผิวแพ้ง่าย ตั้งแต่ทารกแรกคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้